วันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

บทที่ 6 เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา

ทรัพย์สินทางปัญญา หมายถึง ความรู้ที่เกิดจากการคิดค้นจนทำให้เกิดค่าขึ้นได้ ผลงานอันเกิดจากการประดิษฐ์คิดค้น หรือความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ซึ่งเน้นที่ผลผลิตของสติปัญญาและความชำนาญ โดยไม่คำนึงถึงชนิดของการสร้างสรรค์ หรือวิธีการในการแสดงออก ทรัพย์สินทางปัญญาอาจเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เช่น สินค้าต่างๆ หรือเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น บริการ แนวความคิด กรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม และทฤษฏีต่างๆ และผลงานนั้นมีคุณค่าสามารถใช้ประโยชน์ได้

ประเภทของทรัพย์สินทางปัญญา
ทรัพย์สินทางปัญญา แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 
 1. ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม (Industrial Property)   คือ ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับสินค้าอุตสาหกรรม ความคิดสร้างสรรค์ไม่ว่าจะเป็นความคิดในการประดิษฐ์คิดค้น การออกแบบผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม ซึ่งอาจจะเป็นกระบวนการหรือเทคนิคในการผลิตที่ได้ปรับปรุงหรือคิดค้นขึ้น ใหม่ หรือที่เกี่ยวกับตัวสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นองค์ประกอบและรูปร่างสวยงามของตัวผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังรวมถึงเครื่องหมายการค้าหรือยี่ห้อ ชื่อและถิ่นที่อยู่ทางการค้า ที่รวมถึงแหล่งกำเนิดสินค้า และการป้องกันการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
   1. สิทธิบัตร (Patent)
   2. เครื่องหมายการค้า (Trademark)
   3. ความลับทางการค้า (Trade Secrets)
   4. ชื่อทางการค้า (Trade Name)
   สิทธิบัตร (Patent) หมายถึง หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ (Invention) การออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) หรือ ผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ (Utility Model) บัญญัติให้เจ้าของสิทธิบัตร มีสิทธิ์เด็ดขาด หรือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการแสวงหาประโยชน์จากการประดิษฐ์ สิทธิจะมีอยู่เพียงช่วงระยะเวลาที่จำกัดช่วงหนึ่งเท่านั้น
- การประดิษฐ์ คือ การคิดค้นหรือคิดทำขึ้นเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ หรือกรรมวิธีใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น การประดิษฐ์คิดค้นเกี่ยวกับกลไก โครงสร้าง หรือส่วนประกอบของอุปกรณ์
- การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ ต้องเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เป็นการประดิษฐ์ที่แตกต่างไปจากเดิม ยังไม่เคยมีใช้หรือแพร่หลายมาก่อนในประเทศ
- การออกแบบผลิตภัณฑ์ คือ ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับรูปร่าง ลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์ ที่แตกต่างไปจากเดิม
- การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ ต้องเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมหรือหัตถกรรม เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่มีใช้แพร่หลายในประเทศหรือยังไม่ได้เปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสาร
    เครื่องหมายการค้า (Trademark) หมายถึง เครื่องหมายสัญลักษณ์หรือตราที่ติดอยู่กับสินค้า หรือบริการ อาจเป็นภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข หรือลายมือชื่อ ใช้เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของคนอื่น
    ความลับทางการค้า (Trade Secrets) หมายถึง ข้อมูลการค้าที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปหรือยังเข้าถึงไม่ได้ในหมู่บุคคล และมีมูลค่าในเชิงพาณิชย์เนื่องจากข้อมูลนั้นเป็นความลับ และมีการดำเนินการตามความสมควรเพื่อรักษาข้อมูลนั้นไว้เป็นความลับ
    ชื่อทางการค้า (Trade Name) หมาถึง ชื่อที่บุคคลใช้ในการประกอบกิจการ เช่น ไทยประกันชีวิต โกดัก เป็นต้น

    2. ลิขสิทธิ์ (Copyright)   หมายถึง สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ริเริ่มโดยการใช้สติปัญญาความรู้ ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะของตนเองในการสร้างสรรค์ โดยไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น โดยงานที่สร้างสรรค์ต้องเป็นงานตามประเภทที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง โดยผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์โดยไม่ต้องจดทะเบียน
งานสร้างสรรค์ที่มีลิขสิทธิ์ ประกอบด้วยงานต่างๆ ดังนี้
 *  งานวรรณกรรม
 *  งานนาฏกรรม
 *  งานศิลปกรรม
 *  งานดนตรีกรรม
 *  งานโสตทัศนวัสดุ
 *  งานภาพยนต์
 *  งานสิ่งบันทึกเสียง
 *  งานแพร่เสียงแพร่ภาพ
 *  งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
สิ่งที่ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์
  * ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร
  * รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
  * ประกาศ คำสั่ง ระเบียบ คำชี้แจง ของหน่วยงานรัฐหรือท้องถิ่น
  * คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
  * คำแปล และการรวบรวมสิ่งต่างๆ ข้างต้น ที่หน่วยงานของรัฐหรือท้องถิ่นจัดทำขึ้น
การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์  สิทธิในลิขสิทธิ์จะเกิดขึ้นโดยทันทีนับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างผลงานโดยไม่ต้องจดทะเบียน ซึ่งมีลักษณะการได้มา ดังนี้
    * คุ้มครองทันทีที่ได้มีการสร้างสรรค์งานนั้น
    * กรณีที่ยังไม่ได้มีการโฆษณางาน ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือมีสัญชาติในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญา ว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย
    * กรณีที่มีการโฆษณางานแล้ว ต้องเป็นการโฆษณาครั้งแรกได้ทำขึ้นในราชอาณาจักรหรือในประเทศที่เป็นภาคีฯ
    * กรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล ต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
สิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ ต่องาน อันมีลิขสิทธิ์ของตนดังนี้
    * ทำซ้ำหรือดัดแปลงใหม่
    * เผยแพร่ต่อสาธารณชน
    * ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียง
    * ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น
การคุ้มครองลิขสิทธิ์ จะมีผลเกิดขึ้นโดทันทีที่มีการสร้างสรรค์ผลงาน โดยความคุ้มครองนี้จะมีตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และจะคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต ผลภายหลังลิขสิทธิ์หมดอายุ งานนั้นจะตกเป็นสมบัติของสาธารณะ บุคคลใดๆ สามารถใช้งานนั้นๆ ได้โดยไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
รูปแบบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
  * การปลอมแปลง เป็นการผลิตที่มีการใช้วัสดุ รูปลักษณ์ ตราสินค้าที่เหมือนกับของเจ้าของทุกประการโดยที่ผู้ซื้ออาจจะแยกไม่ออกว่าเป็นของจริงหรือไม่ เช่น การปลอมกระเป๋าแบรนด์เนม ร้องเท้า น้ำหอม เป็นต้น
  * การลอกเลียนแบบ ที่มีตัวสินค้ารูปร่างหน้าตาเหมือนสินค้าของเจ้าของผู้ผลิตแต่จะมีการปรับเปลี่ยนหรือตกแต่เครื่องหมายการค้าเล็กน้อย เช่น โทรศัพท์มือถือ ผลิตภัณฑ์ผงซักฟอก
  * การลักลอบผลิต คือการลักลอบการผลิต เทปผี ซีดีเถื่อน 

สรุป จากวิดีโอ




ลิขสิทธิ์ คือ ผลงานที่เกิดจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ประเภทต่างๆ เช่น งานวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ เป็นต้น ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์จะมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับงาน ลิขสิทธิ์ของตนโดยกฎหมายลิขสิทธิ์ได้ให้ความคุ้มครองถึงสิทธิของนักแสดง และสร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยี เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย

ลิขสิทธิ์ เป็นผลงานที่เกิดจากใช้สติปัญญา ความรู้ความสามารถ ในการสร้างสรรค์งานให้เกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็น “ทรัพย์สินทางปัญญา” ประเภทหนึ่งที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ดังนั้น เจ้าของลิขสิทธิ์จึงควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถหาประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์ของตนได้ เช่น ทำซ้ำ คือการคัดเลือก ทำสำเนา ทำแม่พิมพ์ บันทึกเสียง บันทึกภาพ ฯลฯ จากต้นฉบับหรือสำเนา ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน เช่น การแสดง การบรรยาย การจำหน่าย การทำให้ปรากฏด้วยเสียงด้วยภาพ ฯลฯ จากงานที่ได้จัดทำขึ้น เป็นต้น

เครื่องหมายการค้า (Trade Mark) คือเครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมายเกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เช่น บรีส มาม่า กระทิงแดง เป็นต้น